ศภ.1 กสอ. "ลุย" จังหวัดลำพูน "เร่ง" ติดตามการดำเนินงาน พร้อม "รับฟัง" ปัญหา ความต้องการผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน หวังหาแนวทางฟื้นฟู เยียวยา


22 ก.พ. 2564    ปฐมพงษ์    6

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 นางสาวนิรามัย ศิริศรีสุดากุล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ณ สถานประกอบการ เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรม” และหมู่บ้าน “CIV” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดังนี้

โครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรม” ดังนี้
1. ศรีวิลัยผ้าฝ้าย : ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ผลิตและจำหน่าย เสื้อผ้าฝ้ายสตรีสำเร็จรูป ซึ่งให้แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเทคนิคการปักลวดลายให้ดูทันสมัย และยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศรีวิลัยผ้าฝ้าย
2. ร้านขะแจ๋หลงลื้อ : ต.บ้านธิ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งให้แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยการออกแบบลวดลายการทอผ้าไทลื้อ พร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการนำผ้าทอมาประยุกต์บนเสื้อผ้าสำเร็จรูป
3. กลุ่มเย็บปักถักร้อยบ้านสันทราย : ต.บ้านธิ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายมือ ซึ่งให้แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเทคนิคการทำลายผ้า และออกแบบเสื้อผ้าให้ดูทันสมัย

????โครงการพัฒนาผู้ประกอบการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)
1. หมู่บ้าน CIV หมู่บ้านหนอกเงือก : อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของงานหัตกรรมผ้าทอของบ้านหนองเงือก โดยมีผลิตภัณฑ์เด่นจากการนำวัตถุดิบต่าง ๆ ในพื้นที่มาพัฒนาเป็นของฝาก อาทิ ผ้าทอ ลายต่างๆ ดังนี้ ลายเกล็ดเต่าลูกอม ลายเกล็ดเต่าหมู่ ลายเกล็ดเต่าจิ๋ว ลายเกล็ดเต่าตา ลายดอกช้าง ลายดอกนก ลายดอกบัวเครือ ลายดอกขอลายไทย เป็นต้น ซึ่งที่ปรึกษาให้แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยการดึงเอาความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอหมู่บ้านหนองเงือก มาทำกระเป๋าโดยใช้ชื่อว่า “ขุงคัว” พร้อมทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์
2. หมู่บ้าน CIV หมู่บ้านแพะ : อ.บ้านธิ จ.ลำพูน เป็นชุมชนที่มีจุดเด่นด้านวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมด้านการทำนา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลื้อ มีอุโบสถ์โบราณไว้ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา และประเพณีที่โดดเด่นและยังคงอนุรักษ์ไว้จากรุ่นสู่รุ่น โดยมีผลิตภัณฑ์เด่นจากการนำวัตถุดิบต่าง ๆ ในพื้นที่มาพัฒนาเป็นของฝาก อาทิ แปรรูปกะลามะพร้าว ย่ามไทลื้อ จักสานใบตาล เป็นต้น

ทั้งนี้ ผอ.ศภ.1 กสอ. ได้สอบถามถึงการดำเนินงานของที่ปรึกษาโดยผู้ประกอบการมีความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างมาก และผู้ประกอบการ CIV ทั้ง 2 แห่ง ประสบปัญหาไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในชุมชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 แต่ผู้ประกอบการยังคงเตรียมความพร้อม ปรับภูมิทัศน์ จุดเช็คอินให้มีความสวยงาม และจะพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์คลี่คลายต่อไป