อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “กฎหมาย และการแบ่งประเภทเครื่องมือแพทย์ตามความเสี่ยงที่ควรรู้ในปี 2562


31 พ.ค. 2562    ปฐมพงษ์    3

วันที่ 31 พ.ค. 62นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “กฎหมาย และการแบ่งประเภทเครื่องมือแพทย์ตามความเสี่ยงที่ควรรู้ในปี 2562” ณ ห้องสัมมนา D405 อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา สมาคมการค้าผู้ประกอบการเครื่องจักรชิ้นส่วนโลหะและอุตสาหกรรมสนับสนุนไทย และ MED CMU Health Innovation Center (MED CHIC) โดยได้รับเกียรติจาก นางจันทรรัตน์ ปิยพัทธไชย อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นายอุดม สอนจิตต์ อุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นางเรไร รักศิลปกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ภาคเหนือ เข้าร่วมพิธีเปิดดังกล่าว โดยมี นางสาวนิรามัย ศิริศรีสุดากุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสากรรม รศ.ดร.พญ. ศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม ผู้ช่วยคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
โดยการจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ให้มีความรู้ความเข้าใจในระเบียบข้อบังคับทางกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์ ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการควบคุมเครื่องมือแพทย์และบทบัญญัติที่เป็นข้อจำกัด ตลอดจนแก้ไขบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน อันจะเป็นการเอื้ออำนวยให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับใน คุณภาพ มาตรฐาน ประสิทธิภาพของเครื่องมือแพทย์ สามารถแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศได้ในอนาคตต่อไป โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
นอกจากนี้ ยังมีการออกบู๊ธคลีนิกให้คำปรึกษาแนะนำจากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ตรง จากภาคส่วนต่างๆอันเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 80 คน