กสอ.หนุนนโยบายรวมกลุ่มเอสเอ็มอีเชิงพื้นที่-กลุ่มธุรกิจ ทางออกวิกฤตเศรษฐกิจได้ผลจริง ตั้งเป้าปี 64 ปั้นคลัสเตอร์ 29 กลุ่มใหม่


13 พ.ย. 2020    ปฐมพงษ์    5

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการ บริษัท สุภาฟาร์มผึ้ง จำกัด ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กสอ. นางสาวนิรามัย ศิริศรีสุดากุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กสอ. และคณะผู้บริหารกสอ. โดยมี นางสาวสุวรัตนา ยาวิเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฯ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งสรุปภาพรวมการดำเนินงานและนำเยี่ยมชมสถานประกอบการ ณ อ.แม่ริม

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมฯ มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการผ่านการส่งเสริมทักษะการประกอบการในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการรวมกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยใช้ 2 เครื่องมือสำคัญประกอบด้วย โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในระดับพื้นที่ในการรวมกลุ่มผู้ประกอบการทุกสาขาอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการส่งต่อข้อมูลการดำเนินธุรกิจรและช่วยเหลือกันในระดับจังหวัดและภูมิภาค ทำให้เครือข่ายผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้ว 367 รุ่น ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ และโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือ คลัสเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในระดับธุรกิจที่รวบรวมผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพภายในเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดย กสอ. ได้ขยายผลการขับเคลื่อนการผนึกกลุ่มผู้ประกอบการบนแนวคิด Cluster Hub คือ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเชิงพื้นที่กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมา กสอ. สามารถพัฒนาคลัสเตอร์ จำนวน 103 กลุ่ม และตั้งเป้าในปี พ.ศ. 2564 พัฒนาคลัสเตอร์รวมอีก 29 กลุ่ม และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

สำหรับ บริษัท สุภาฟาร์ผึ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผึ้งจากเดิมที่เคยเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม ต่อมาได้หันมาเลี้ยงอย่างจริงจัง เป็นอาชีพหลัก จนสามารถนำผลผลิตออกขายสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GMP/มาตรฐาน อย.จากคณะกรรมการอาหารและยา /มาตรฐาน GAP /HACCP /อาหารฮาลาล ซึ่งสินค้าทุกตัวต้องมีการตรวจสอบคณุภาพดีพร้อมก่อนส่งถึงมือลูกค้า นอกจากน้ำผึ้งธรรมชาติแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่แปรรูปจากผึ้งชนิดอื่น ๆ ก็ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ ผ่านกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ คพอ. โครงการคลัสเตอร์ ซึ่งได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการต่อยอดทางธุรกิจจนประสบผลสำเร็จ โดยล่าสุดได้เข้าร่วมโครงการแตกกอธุรกิจผ่านการจัดทำโมเดลธุรกิจใหม่ ขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มผู้สูงอายุ มาสู่กลุ่มคนวัยทำงาน โดยให้ใช้แฟลตฟอร์มออนไลน์เป็นเครื่องมือในการขาย ทั้งการนำเสนอโปรโมชันผ่านระบบไลฟ์ และการนำเสนอคอนเทนต์ผ่าน Youtube ของสุภาฟาร์ม

PR.DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว