ศภ.1 กสอ. โชว์ความสำเร็จ "ปั้น" 5 ผู้ประกอบการ พื้นที่จังหวัดแพร่
วันที่ 21 กันยายน 2563 นางสาวนิรามัย ศิริศรีสุดากุล ผอ.ศภ.1 กสอ. กล่าวรายงาน และร่วมพิธีปิดโครงการ “ถอดรหัสนวัตกรรมอาหารพื้นถิ่น สู่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและชีวภาพ” โดยมีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดโครงการ ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นเกียรติ อาทิ รองผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย , รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มงานข้อมูลและสถานการณ์ สสว.,ผู้จัดการศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร จังหวัดแพร่ ,นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.แพร่ , นายบุญอุ้ม วงศ์บุตร อสจ.แพร่ , พาณิชย์จังหวัดแพร่ ,เกษตรจังหวัดแพร่ , ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ และนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแพร่ เป็นต้น
โครงการถอดรหัสนวัตกรรมอาหารพื้นถิ่นสู่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและชีวภาพมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปพื้นถิ่นด้วยองค์ความรู้ทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางอาหาร และการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อการควบคุมการผลิตอาหารที่ปลอดภัย พร้อมทั้งถอดสูตรอาหารให้ได้มาตรฐานด้านรสชาติ และเอกลักษณ์อาหารภาคเหนือ เป็นต้นแบบและกรณีศึกษาในการต่อยอด การแปรรูปอาหารพื้นถิ่นต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ได้เข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดแพร่
สำหรับโครงการดังกล่าว ศภ.1 กสอ. ได้ดำเนินงาน ดังนี้
1. ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ผ่านการสัมมนาหัวข้อ “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปโดยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 9 กันยายน 2563 มีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาจำนวน 33 คน
2. ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นและบรรจุภัณฑ์ด้วยองค์ความรู้ทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีและการใช้เครื่องทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นต้นแบบและกรณีศึกษา จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้
• ข้าวหลามป้าพา พัฒนาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ Frozen
• ขนมเส้นดวงเนตร(ขนมเส้นเก๋ากึ๊ก)พัฒนาในรูปแบบผลิตภัณฑ์Frozen
• แกงฮังเลล้านนา พัฒนาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ Frozen
• จิ้นนึ่งเมืองแป้ พัฒนาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ Frozen
• น้ำพริกน้ำย้อยอาหวัง พัฒนาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ความชื้นต่ำ
โดยกิจกรรมพิธีปิดในวันนี้ เป็นการนำเสนอและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาทั้ง 5 ผลิตภัณฑ์ ให้เกิดการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางระบบสังคมออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการออกสู่ตลาด และทดสอบรสชาติอาหารเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาและต่อยอดในการพัฒนาต่อไปในอนาคต ณ ร้านกินไทย ข่วงน้ำคือ อ.เมือง จ.แพร่